บทความสุขภาพจิต
เวิคกิ้ง วูแมน
ปัจจุบันผู้หญิงไทยได้พลิกผันบทบาทตัวเอง จากอดีตที่เคยอยู่กับเย้าเฝ้ากับเรือนเพื่อทำหน้าที่ของความเป็นภรรยาและแม่ในการดูแลสามีและลูกไม้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง แต่ในปัจจุบันทำหน้าที่แม่บ้านอย่างเดียว อาจทำให้ความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวไม่สมบูรณ์นั่นคือ อาจส่งผลต่อความเป็นอยู่และความสะดวกสบายที่พึ่งจะได้รับตามสภาพของสังคมทั่วไป โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในสังคมเมืองด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้หญิงไทยในปัจจุบัน จึงต้องผันตัวเองไปทำงานเพื่อหาเงินช่วยครอบครัวอีกแรงในขณะเดียวกันเมื่อผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่ ไม่ใช่เพียงดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำอีกบทบาทเพื่อเพื่อหารายได้เข้าครอบครัวจึงส่งผลให้การทำหน้าที่ของภรรยาและแม่ลดลงซึ่งบางครั้งอาจไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ได้ชื่อสามีและสมาชิกภายในครอบครัวเข้าใจและการมีการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระภายในบ้านซึ่งกันและกันก็จะไม่มีปัญหาและในทางตรงกันข้ามหากขาดความเข้าใจและมีความคาดหวังโดยไม่คำนึงถึงบทบาทหน้าที่แท้จริงของภรรยาแล้วอาจเกิดปัญหาขึ้นได้
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าผู้หญิงจะสามารถทำได้ทั้งบทบาทการเป็นภรรยาหรือการเป็นมารดาแล้วแต่ทัศนคติค่านิยมที่หญิงไทยรับรู้เกี่ยวกับตนเองมักมองว่าเป็นบ่วงวัฒนธรรม (Culture trap) ทำให้ชีวิตการทำงานนอกบ้านของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากนานัปการ อาทิ การเรียกร้องเพื่อความก้าวหน้าการแสวงหาอำนาจ การพึ่งพา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นค่านิยมที่ไม่อาจลบล้างไปจากความคิดได้ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยที่พบว่าผู้หญิงทำงาน (Working Woman) ได้ประเมินตัวเองในทางลบถึงบทบาทการเป็นแม่ที่ดีที่มีความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ และจากงานวิจัยในกลุ่มผู้บริหารหญิงไทยพบว่า ปัญหาที่พวกเธอให้ความสำคัญไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจแต่เป็นเรื่องลูกและทัศนที่แสดงออก บ่งบอกถึงค่านิยมดั้งเดิมของสตรีไทยที่ยังคงต้องการทำหน้าที่มารดาที่ดี ได้ดูแลลูก ให้ความสนใจแก่ลูกและเป็นแม่บ้านที่ดีและมีประเด็นที่น่าสนใจคือหากครอบครัวมีส่วนช่วยส่งเสริมเรื่องงานโดยเฉพาะสามีมีส่วนช่วยเหลือแบ่งเบาภาระงานบ้านและให้กำลังใจแก่ภรรยาจะทำให้หญิงมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ผลงานวิจัยดังกล่าวจึงน่าจะนำมาเป็นข้อคิดในการอยู่ร่วมกันระหว่างสามี ภรรยา การช่วยเหลือแบ่งเบาการทำงานไม่เกี่ยวหญิง – ชาย ให้ความสนใจ ห่วงใย เอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจ ให้การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดและอบอุ่น สิ่งเหล่านี้คงจะพอเป็นฐานที่แข็งแกร่งที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพหญิงไทยให้ทำงานได้อย่างมีความสุข
จิรังกูร ณัฐรังสี
พยาบาลวิชาชีพ
แหล่งที่มา : บทความสุขภาพจิต โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
Recent Comments